ลูกหนี้เมาส์ กระจาย หน้าซีบอกซ์ คุยกันสดๆ เลย ขอรับ

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

ลูกหนี้บัตรเครดิต ได้เฮ จริง หรือไม่ ดูกันดีๆ ต่อไป


ที่มาของภาพ http://creditcardfocus.info/wp-content/uploads/2011/04/1302530451-50.jpg

นโยบาย ล่าสุดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศออกมาในช่วงใกล้การเลือกตั้ง คือการให้ธนาคารรัฐรับโอนหนี้บัตรเครดิตจากสถาบันการเงิน และเปลี่ยนเป็นหนี้ส่วนบุคคลที่มีเงื่อนไขการชำระหนี้ระยะยาวขึ้นและอัตรา ดอกเบี้ยต่ำลง โดยลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการนี้จะต้องมีประวัติการผ่อนชำระหนี้ที่ดี กล่าวคือเป็นลูกหนี้ที่ผ่อนชำระดอกเบี้ยหรือชำระขั้นต่ำร้อยละ 10

วัตถุประสงค์หลักของนโยบายนี้ รัฐบาลต้องการกระตุ้นสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตเสนอเงื่อนไขที่ดีขึ้น โดยพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตลง เพื่อรักษาสถานภาพของลูกหนี้กลุ่มนี้ไว้ ไม่ให้สูญเสียลูกหนี้ที่ดีให้แก่ธนาคารรัฐ
ถึงแม้ว่านโยบายนี้จะทำให้ลูกหนี้บัตรเครดิตได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลง แต่เมื่อพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลของนโยบายนี้ ผมมีคำถามที่รัฐบาลน่าจะต้องตอบให้ได้เสียก่อนที่จะนำนโยบายนี้ไปสู่การปฏิบัติ

นโยบายมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่

แม้ว่านโยบายนี้มีวัตถุประสงค์ที่ดี แต่ผมยังไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนของนโยบายนี้ เพราะผู้ที่ถือบัตรเครดิตไม่ใช่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยหรือคนยากจน คนกลุ่มนี้ยังมีทางเลือกในการแสวงหารายได้หรือแหล่งเงินทุนมาชำระหนี้ ยิ่งไปกว่านั้นลูกหนี้กลุ่มนี้ยังไม่ได้มีปัญหาขาดความสามารถในการชำระหนี้

แม้ ลูกหนี้บัตรเครดิตมีความน่าเห็นใจเพราะมีภาระหนี้ที่ต้องแบกรับ แต่ในสังคมยังมีผู้ที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือมากกว่า การนำวงเงินสินเชื่อของธนาคารรัฐไปช่วยลูกหนี้บัตรเครดิตย่อมทำให้ผู้ที่มี ความจำเป็นมากกว่ามีโอกาสได้รับสินเชื่อหรือได้รับความช่วยเหลือลดลง

อัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลแทรกแซงเหมาะสมหรือไม่

อัตรา ดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั่วไปเกิดจากความเสี่ยง ที่สูงกว่าเนื่องจากเป็นการให้กู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ประกอบกับความเป็นสินเชื่อบุคคลรายย่อยทำให้ผู้ออกบัตรเครดิตมีต้นทุนการ ดำเนินงานและต้นทุนการติดตามชำระหนี้สูง นอกจากนี้การให้บริการบัตรเครดิตยังมีต้นทุนสูงในการลงทุนระบบเทคโนโลยี สารสนเทศเพื่อจัดการข้อมูลการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตอีกด้วย

อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ผู้ออกบัตรเสนอแก่ลูกค้าในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีอัตราค่อนข้างสูง เช่น สหรัฐอเมริกามีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 14 ต่อปี อังกฤษร้อยละ 15 แคนาดาร้อยละ 19 จีนร้อยละ 18 เม็กซิโกร้อยละ 40 บราซิลร้อยละ 120 เป็นต้น ทั้งนี้นิตยสารดิอีโคโนมิสต์ประจำเดือนพฤษภาคมปี 2006 ระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 200 ต่อปี ในทำนองเดียวกับในประเทศไทยที่อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตค่อนข้างสูง

ตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตในประเทศไทยมีการแข่งขันกันมากพอสมควร โดยผู้ออกบัตรมีทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ถึงแม้ว่ายังไม่ใช่ตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยหนี้บัตรเครดิตในปัจจุบันอาจยังไม่ใช่อัตราที่เหมาะสมก็จริงอยู่ แต่คำถามคือ อัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลแทรกแซงเหมาะสมหรือไม่ และรัฐบาลรู้ได้อย่างไรว่าอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร

ลูกหนี้ที่ดีควรมีเงื่อนไขอย่างไร

ตามเงื่อนไขของนโยบายนี้ ลูกหนี้ที่มีประวัติการผ่อนชำระหนี้ที่ดีจะได้รับประโยชน์ แต่คำถามคือ ทำไมรัฐบาลจึงกำหนดหลักเกณฑ์ลูกหนี้ที่ดีไว้ที่การชำระขั้นต่ำร้อยละ 10 ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น แต่ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระขั้นต่ำตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไปแต่ต่ำกว่าร้อยละ 10 กลับไม่ได้รับประโยชน์ ทั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ว่า เงื่อนไขการชำระหนี้ขั้นต่ำจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น

โดยปกติ ลูกหนี้บัตรเครดิตจะเลือกใช้บริการบัตรเครดิตของผู้ออกบัตรรายใด โดยพิจารณาจากเงื่อนไขการชำระขั้นต่ำตามความสามารถในการชำระหนี้ของตน ซึ่งเงื่อนไขการชำระหนี้ขั้นต่ำยิ่งต่ำเท่าไร อัตราดอกเบี้ยก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ลูกหนี้ดีที่ผ่อนชำระขั้นต่ำตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไปแต่ต่ำกว่าร้อยละ 10 จึงต้องแบกรับอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าลูกหนี้ที่ดีที่ชำระขั้นต่ำร้อยละ 10 ขึ้นไปเสียอีก แต่กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือจากนโยบายนี้ทั้งที่ยังชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอ

การดำเนินนโยบายสร้างผลกระทบหรือไม่

อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่อยู่ในระดับสูงอาจมองได้สองแง่ คือ มุมมองแรกเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ขาดวินัยในการชำระหนี้ หรือมุมมองที่สองเป็นการลงโทษลูกหนี้ที่ดี ซึ่งรัฐบาลใช้มุมมองที่สองในการกำหนดนโยบาย

แน่นอนว่านโยบายนี้จะทำให้ลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีได้รับประโยชน์ แต่ในอีกแง่หนึ่ง นโยบายนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดี เพราะจะทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตเกิดพฤติกรรม moral hazard มากขึ้น ผู้ถือบัตรอาจมีการใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้นและมีวินัยในการชำระหนี้ลดลง เพราะรู้ว่าหากผิดนัดชำระหนี้จะถูกลงโทษไม่รุนแรงมากเหมือนเดิม และยังอาจทำให้สัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของหนี้บัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น

ผลของนโยบายยั่งยืนหรือไม่

นโยบาย นี้จะส่งผลในระยะสั้นเท่านั้น เมื่อวงเงินที่ธนาคารรัฐจัดสรรเพื่อใช้ในการแทรกแซงตลาดสินเชื่อบัตรเครดิต หมดลง อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติ เพราะรัฐบาลไม่ได้เข้าไปแก้ไขโครงสร้างตลาดให้มีการแข่งขันสมบูรณ์มากขึ้น หรือไม่ได้แก้ไขกฎระเบียบการกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุ้ม ครองลูกหนี้ หรือไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่า ธรรมเนียมของผู้ออกบัตร

เนื่องด้วยการบริหารประเทศของรัฐบาลมีหลายเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จ และมีหลายกลุ่มคนที่รัฐบาลต้องดูแล การกำหนดนโยบายของรัฐบาลจึงมีปัจจัยหลายประการที่ต้องให้ความสำคัญอย่างสมดุล และไม่ควรออกนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งหรือมุ่งหวังเพียงสร้างคะแนนนิยมกับคนกลุ่มหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของนโยบายกับคนกลุ่มอื่นหรือปัญหาอื่นย่อมไม่ใช่นโยบายที่ดี



ได้รับการตีพิมพ์จากเดลี่นิวส์ออนไลน์ คอลัมน์บทความ :แนวคิด ดร.แดน วันพุธที่ 18 พฤษภาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ต่อสู้อย่างไร จึงชนะ พี่เค๊าเล่าเรื่อง

  • เหยื่อฟองสบู่แตก ปี 2540 - เรื่องนี้เป็นเรื่องของหลานชาย ค่ะ แต่ก็เกี่ยวกับเราเต็มๆได้เริ่มกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ก่อนหน้าแบงค์ชาติประกาศ งดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ไม่กี่วัน ไม่มีใครร...
    15 ปีที่ผ่านมา